TENCENT หนึ่งเดียวจากเอเชียที่ติด TOP 5 บริษัทนวัตกรรมโลก

15/01/2019 Admin

                เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา มีรายงานเกี่ยวกับการจัด 50 อันดับบริษัทสุดยอดนวัตกรรมโลกประจำปี 2018 โดยนิตยสาร Fast Company สื่อที่เน้นเทคโนโลยีและแนวคิดที่เปลี่ยนโลก ดูแค่ 5 อันดับแรกก็ต้องสะดุดที่ เทนเซ็นต์ (Tencent) เนื่องจาก เป็นบริษัทเดียวจากจีนที่เบียดเข้าไปติดโผเป็นลำดับ 4 โดยเป็นรองก็แค่แอปเปิล เน็ตฟลิกซ์ และ สแควร์ ที่ล้วนแต่เป็นบริษัทอเมริกันทั้งสิ้น รวมถึง อเมซอนที่ติดอันดับ 5

สิ่งที่ทำให้เทนเซ็นต์กลายเป็นบริษัทเอเชียบริษัทเดียวจาก 5 อันดับที่ดีเสมอบริษัทตะวันตก เป็นผลจากการพัฒนาแอปพลิเคชัน วีแชท (WeChat หรือที่ในจีนรู้จักกันในชื่อ เหว่ยซิน) ที่มีผู้ใช้งานราว 1,000 ล้านคน นอกจากเป็นเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่ใหญ่สุดจนมีการเปรียบเปรยว่าเป็น เฟซบุ๊กเวอร์ชั่นจีน วีแชทยังไม่ใช่แอปฯ สนทนาอย่างเดียว แต่เป็นแอปฯ ครบวงจรที่เหมือนรวมเอาเฟซบุ๊ก, อินสตาแกรม, สแนปแชท, แคนดี้ ครัช, ทินเดอร์ และอเมซอนเข้าด้วยกัน ยังไม่รวมฟีเจอร์อื่น เช่น เรียกแท็กซี่ นัดหมายแพทย์ รีวิวร้าน อาหาร จองบริการ ตรวจสอบสถานที่ที่จะไปว่ามีผู้คนหนาแน่นเพียงใด ไปจนถึงโอนเงินชำระเงินออนไลน์ เรียกว่าเข้าแอปฯ เดียว มีบริการทุกอย่างครบครันยิ่งกว่า One Stop Service

การเติบโตของธุรกิจเทนเซ็นต์ยังส่งผลให้กลายเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่มีมูลค่ามากสุดในเอเชีย และไต่ไปอยู่ในกลุ่มเดียวกับแอปเปิล เฟซบุ๊ก และอเมซอนในการเป็นบริษัทเทคโนโลยีที่มีมูลค่าตามราคาหุ้นเกิน 500,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยแซงหน้าคู่แข่งอย่าง เฟซบุ๊กในการเป็นบริษัทโซเชียลเน็ตเวิร์กที่มีมูลค่าสูงสุดในโลกด้วยตัวเลข 540,000 ล้านดอลลาร์ฯ

แน่นอนว่า เทนเซ็นต์จะมาถึงจุดนี้ไม่ได้เลยหากไม่เป็นเพราะ หม่า ฮั่วเถิง หรือ โพนี่ หม่า วิศวกรด้านซอฟต์แวร์ผู้ได้เงินเดือนไม่ถึง 200 ดอลลาร์ฯ ชักชวนเพื่อนสมัยเรียนมหาวิทยาลัยเสิ่นเจิ้น อีก 4 คน ร่วมก่อตั้งบริษัท เทนเซ็นต์ ขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2541 เทนเซ็นต์เปิดตัวในฐานะเว็บพอร์ทัลรวบรวมข้อมูล ลิงก์ และเว็บไซต์ต่างๆ โดยจัดหมวดหมู่ให้ดูง่าย ไม่นานบริษัทก็ได้แนะนำผลิตภัณฑ์แรกเป็นโปรแกรมสนทนา OICQ (ย่อมาจาก Open ICO ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น QQ) โดยได้แรงบันดาลใจจากโปรแกรม ICQ ของอิสราเอล

ใช้เวลาเพียงปีเดียวจำนวนผู้ใช้ QQ ก็เพิ่มเป็น 1 ล้านคน หลังจากนั้นเทนเซ็นต์ก็เพิ่มบริการอื่นๆ เข้ามา เช่น MobileQQ ที่ใช้กับมือถือ และ Qzone โซเชียลเน็ตเวิร์ก มัลติมีเดีย ที่ภายหลังพัฒนาเป็นแอปพลิเคชัน และกลายเป็นแพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเกือบ 500 ล้านคน รวมถึงการรุกธุรกิจเกมที่ช่วงแรกๆ เทนเซ็นต์กว้านซื้อจากนักพัฒนาเกมรายอื่น ต่อมาจึงเริ่มพัฒนาเกมเอง และกลายมาเป็นหนึ่งในธุรกิจหลักของบริษัท

 

“เทนเซ็นต์กลายเป็นบริษัทเอเชียบริษัทเดียวจาก 5 อันดับที่ตีเสมอบริษัทตะวันตกจากวีแชท ที่มีผู้ใช้งานราว 1,000 ล้านคน เป็นเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่ใหญ่สุด จนมีการเปรียบเปรยว่าเป็นเฟซบุ๊กเวอร์ชั่นจีน”

 

กระทั่งปี พ.ศ. 2554 ที่ผู้บริหารเทนเซ็นต์มองเห็นศักยภาพของโซเชียลเน็ตเวิร์ก จึงเข็นวีแชทออกมา แม้ในขณะนั้นโปรแกรม QQ จะมีผู้ใช้งานอยู่แล้วกว่า 800 ล้านคนก็ตาม และเมื่อเทนเซ็นต์ทยอยเพิ่มฟีเจอร์ต่างๆ ลงในวีแชทจนเป็นแอปฯ โซเชียลเน็ตเวิร์กอเนกประสงค์ วีแชทก็กลายเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคชาวจีนขาดไม่ ได้ ในช่วงระยะ 5 ปี (พ.ศ.2554 – 2559) ธุรกิจเทนเซ็นต์เติบโตในอัตรา 40 เปอร์เซ็นต์มาตลอด ส่งผลให้เทนเซ็นต์ติดอันดับ 10 บริษัทแรกที่มีมูลค่าสูงสุดในโลกเมื่อปี พ.ศ. 2560

กลยุทธ์การดำเนินธุรกิจที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะอย่างหนึ่งของเทนเซ็นต์คือ Monetization ซึ่งขัดกับ รูปแบบการดำเนินธุรกิจทั่วไป กล่าวคือโดยปกติบริษัทจะพัฒนาสินค้าหรือบริการขึ้นมาเพื่อหาลูกค้ามาอุดหนุน แต่เทนเซ็นต์กลับทำในสิ่งตรงกันข้ามคือ พัฒนาบริการเพื่อให้ผู้บริโภคใช้ฟรี เมื่อคนเข้ามาใช้เยอะๆ จึงเริ่มหารายได้จากบริการเสริม ข้อมูลระบุช่วงปี พ.ศ.2553 รายได้ส่วนใหญ่ของเทนเซ็นต์มาจากบริการเสริมบนสมาร์ทโฟน จากเกมบนเครื่องพีซี จากโซเชียลเน็ตเวิร์ก เช่น ค่าสมาชิกต่างๆ และการจำหน่าย Virtual Goods หรือสินค้าเสมือนจริง ได้แก่ การดาวน์โหลดเพลง และภาพยนตร์ เป็นต้น

ทั้งหมดทั้งปวงเหล่านี้คิดเป็น 70 เปอร์เซ็นต์ของรายได้เทนเซ็นต์ทั้งหมด ที่เหลือเป็นรายได้จากโฆษณาออนไลน์และอีคอมเมิร์ซ สำหรับธุรกิจที่เป็นตัวทำเงินหลักอีกอย่างคือ ธุรกิจเกม คาดปี พ.ศ. 2563 ตลาดเกมบนมือถือจะขยายตัว และมีขนาดใหญ่กว่าตลาดเกมแบบดั้งเดิมที่เล่นบนพีซี ซึ่งเทนเซ็นต์เองได้วางตำแหน่งไว้แล้วว่าจะเป็นผู้เล่นระดับแถวหน้าในตลาดเกมบนมือถือ อย่างไรก็ตาม เมื่อกลางปี พ.ศ.2560 ที่ผ่านมา รัฐบาลจีนได้กล่าวหาเกม Honor of Kings ของ เทนเซ็นต์ ซึ่งเป็นเกมที่มีการเล่นแพร่หลายสุดเท่าที่เคยมีมาว่า เป็นต้นเหตุที่ทำให้เยาวชนจีนติดเกม ทำให้เทนเซ็นต์เบนเข็มไปยังตลาดเกมต่างประเทศ เช่น ยุโรป อเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ โดยเปลี่ยนชื่อเกมเป็น Arena of Valor

                ในเรื่องของรายได้โฆษณา เมื่อเทียบกับเฟซบุ๊กที่ 98 เปอร์เซ็นต์ของรายได้มาจากโฆษณา แต่เทนเซ็นต์กลับไม่กระตือรือร้นในเรื่องนี้สักเท่าไร ทั้งนี้ โฆษณาทำรายได้ให้บริษัทคิดเป็นสัดส่วนเพียง 19 เปอร์เซ็นต์ อาจเป็นเพราะเทนเซ็นต์มองว่า ยังมีช่องทางอื่นที่ทำเงินมากกว่า อย่างไรก็ตาม เทนเซ็นต์ก็ไม่ได้ปฏิเสธการรับโฆษณาบนวีแชทเลยเสียทีเดียว แต่จะระมัดระวังไม่สร้างความรำคาญ ไม่ให้กระทบต่อการใช้งานของผู้ใช้วีแชท เช่น จำกัดการเห็นโฆษณาแค่วันละครั้ง ในอนาคตหากมีการพัฒนาเครื่องมือที่ทำให้เข้าใจผู้ใช้งานมากขึ้น เช่น คนไหนสนใจอะไรแล้วค่อยป้อนโฆษณาไปให้เพื่อเพิ่มโอกาสที่ผู้ใช้งานจะคลิกเข้าไปชม ถึงเวลานั้นโฆษณาก็อาจจะเป็นบ่อเงินบ่อทองของเทนเซ็นต์ก็ได้

จากเว็บพอร์ทัลเล็กๆ ในจีน ใช้เวลาเพียง 2 ทศวรรษ เทนเซ็นต์ก้าวสู่การเป็นบริษัทเทคโนโลยี อันดับต้นๆ ของโลก และเป็นเจ้าของธุรกิจหลากหลาย ครอบคลุมตั้งแต่ธุรกิจเกี่ยวกับโซเชียลเน็ตเวิร์ก บริการชำระเงินออนไลน์ ธุรกิจสื่อ ธุรกิจบันเทิง ธุรกิจสมาร์ทโฟน ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจโฆษณา ธุรกิจเกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์ และอื่นๆ อีกมากมาย

แม้จะถูกค่อนแคะว่าเป็นเพราะสภาพแวดล้อมที่รัฐบาลจีนกีดกันโซเชียลเน็ตเวิร์กจากต่างชาติหรอก ที่เอื้อให้แอปฯ วีแชทของเทนเซ็นต์ได้รับความนิยม ถึงกระนั้นก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเพราะ วิสัยทัศน์ของผู้บริหาร และการสร้างสรรค์นวัตกรรม อย่างต่อเนื่อง เทนเซ็นต์จึงได้รับการยอมรับว่า เป็นบริษัทที่ไม่ใช่แค่เปลี่ยนชีวิต หากยังเปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิตของชาวจีนอย่างสิ้นเชิง สมดังเจตนารมณ์ของโพนี่ หม่า ที่ก่อตั้งบริษัทขึ้นมา พร้อมความตั้งใจในการยกระดับคุณภาพชีวิตของ มนุษย์ผ่านการใช้อินเทอร์เน็ต การมอบตำแหน่ง Top 5 บริษัทสุดยอดนวัตกรรมโลกจึงนับว่าเป็นรางวัลที่ควรค่าแก่เทนเซ็นต์

 

Tags : , , , , , ,
Leave Comment