ประตูท่าแพและข่วงประตูท่าแพ เมืองเชียงใหม่ ของภาคประชาชน

25/10/2018 Admin

 

สามสิบกว่าปีมาแล้วที่ประตูท่าแพและข่วงประตูท่าแพถูกสร้างขึ้น ต้องใช้คำว่า “สร้างขึ้น” เพราะสร้างขึ้นใหม่จริงๆ ไม่ได้บูรณะ แต่คนเชียงใหม่ปัจจุบันลืมหมดแล้วว่าอะไรเกิดขึ้น และกำลังหาประโยชน์และหากินกับข่วงประตูท่าแพขณะนี้

เดิมทีเมืองเชียงใหม่โบราณมีกำแพงเมืองก่ออิฐ ป้อม และประตูเมืองชั้นใน 5 ประตู

ในราว พ.ศ. 2460 เศษๆ ความศิวิไลซ์แพร่ขยายสู่เมืองเชียงใหม่ มีรถยนต์และความเจริญเติบโตของบ้านเมืองมีมากขึ้น กำแพงเมืองถูกกระทรวงธรรมการสมัยนั้นประมูลขายอิฐ จึงถูกรื้อถอนลง เหลือแต่แจ่ง 4 แจ่ง และประตูเมืองก็ถูกรื้อลงหมดเพื่อขยายถนนกว้างสำหรับรถยนต์วิ่งได้สะดวก

ต่อมาราว พ.ศ. 2490 เศษๆ เทศบาลเมืองเชียงใหม่ขณะนั้น ได้ออกแบบ(ออกแบบใหม่ ไม่มีหลักฐานและรูปแบบโบราณเลย)และสร้างประตูเมืองขึ้นใหม่เพื่อให้บ้านเมืองสวยงาม(นายช่างทองหยด สุวรรณประเทศ ผู้ออกแบบ) คือ ประตูเมือง 4 ประตูทุกวันนี้ ยกเว้นประตูท่าแพ

สรุปแล้วประตูเมืองเชียงใหม่ที่ปรากฏล้วนแต่เป็นสิ่งก่อสร้างใหม่ ไม่ใช่โบราณสถาน

ใน พ.ศ. 2527 – 2528 ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่สมัยนั้น(คุณชัยยา พูนศิริวงศ์) สร้างประตูท่าแพและข่วงท่าแพขึ้นใหม่

ผู้ว่าฯชัยยาท่านเป็นชาวเชียงใหม่ เป็นสถาปนิกที่เคยเป็นผู้อำนวยการสำนักผังเมืองฯ เป็นคนรักบ้านเมือง ตลอดเวลาที่เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ทุกๆปีท่านจะทอดผ้าป่าเพื่อบูรณะวัดในเมืองเชียงใหม่ที่มีคุณค่าทางวัฒนธรรมโดยไม่ใช้งบประมาณราชการใดๆ ตัวอย่าง วิหารวัดปราสาท วิหารวัดต้นเกว๋น ฯลฯ ก็ล้วนผลงานของท่าน

ซึ่งขณะนั้น(พ.ศ.2526 – 2530) ผมทำหน้าที่เป็นหัวหน้าหน่วยศิลปากรที่ 4 เชียงใหม่(ชื่อหน่วยงานขณะนั้น ปัจจุบันคือ สำนักศิลปากรที่ 8 เชียงใหม่) ก็ได้ร่วมมือช่วยงานท่านเสมอมา

พ.ศ.2527 มีคนเก่าแก่ของเชียงใหม่มอบภาพเก่าประตูท่าแพให้ท่าน ทำให้ท่านผู้ว่าฯชัยยา พูนศิริวงศ์ มีดำริที่จะสร้างประตูท่าแพขึ้นใหม่ให้เป็นรูปแบบถูกต้องตามโบราณ (ไม่ใช่ประตูปลอม เช่นทุกวันนี้)

จึงมอบหมายให้ผมและทีมงานกรมศิลปากรขณะนั้น ถอดแบบและออกแบบให้ (ซึ่งรูปแบบที่สร้างปัจจุบัน ลดขนาดและความสูงลงมาก เพราะสภาพแวดล้อมปัจจุบันต่างไปจากอดีต)

การก่อสร้างประตูท่าแพและข่วงประตูท่าแพเริ่มขึ้นใน พ.ศ.2528 โดยขออนุญาตกรมศิลปากรเพราะที่ดินเป็นเขตโบราณสถาน และไม่ได้ใช้งบประมาณของทางราชการใดๆ โดยท่านระดมเงินทุนจากภาคประชาชนและเอกชนชาวเชียงใหม่มาดำเนินการทั้งหมด

ในการก่อสร้างมีปัญหาค่อนข้างมาก เนื่องจากถูกชาวเมืองเชียงใหม่ส่วนหนึ่งคัดค้าน สาปแช่ง กล่าวหาว่า ทำลายโบราณสถาน ทำให้ขึดบ้านขึดเมือง มิวายที่ผมจะช่วยออกโรงชี้แจงว่า ประตูท่าแพที่ถูกรื้อไม่ใช่ประตูดั้งเดิม เป็นของสร้างใหม่ ก็ไม่ยอมเข้าใจ

จนกระทั่งการสร้างประตูท่าแพและข่วงประตูท่าแพเสร็จ กระแสต่อต้าน จึงเงียบลง เพราะดูดีกว่าประตูท่าแพเดิม
และกลายเป็นข่วงที่จัดกิจกรรมสาธารณะประโยชน์ที่เป็นหน้าตาของบ้านเมือง
รวมทั้งพวกที่ต่อต้านก่นด่า ก็เข้ามาร่วมใช้ประโยชน์และหากินเอาผลประโยชน์ ทั้งๆที่แช่งชักหักกระดูกคนที่ทำและสร้าง

อย่างไรก็ตามมีเรื่องที่สืบเนื่องที่ข่วงประตูท่าแพ เนื่องจากมีตึกแถวอยู่ชุดหนึ่ง 6-7 ห้อง อยู่ต่อเนื่องจากข่วงท่าแพทางทิศใต้ เป็นที่ดินที่ออกโฉนดทับที่คูเมืองเชียงใหม่อย่างชัดเจน ในการประชุมจังหวัดเชียงใหม่ครั้งนั้นจะทำเรื่องให้มีการเพิกถอนโฉนดที่ดินเพราะเป็นการออกโฉนดโดยมิชอบ เพื่อจะปรับปรุงข่วงท่าแพให้ต่อเนื่อง

แต่ตอนหลังพบว่าการออกโฉนดนั้นนานมากแล้ว และผู้ครอบครองปัจจุบันไม่ได้มีเจตนา เพราะซื้อขายสิบทอดกันมาหลายมือ ผู้ว่าฯจึงตกลงกับผู้ครอบครองว่า จะระดมเงินชาวเชียงใหม่ ขอซื้อคืน

แต่น่าเสียดาย ไม่สำเร็จ เพราะถูกย้ายเสียก่อน ดังนั้นตึกแถวชุดนั้นก็ยังคงอยู่ เป็นคำถามในใจของคนทั่วไป

เรื่องราวเหล่านี้เป็นข้อมูลเพื่อให้ชาวเชียงใหม่ได้รู้ว่า ประตูท่าแพและข่วงท่าแพ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยน้ำพักน้ำแรงและน้ำใจของภาคประชาชนที่ร่วมมือร่วมใจสร้างขึ้นเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม

Tags : , , , , , , ,
Leave Comment